เลือกเหรียญลงทุน สไตล์ Crypto VI






ตอนนี้ในตลาด Crypto นั้นมีเหรียญมากกว่า 1000 เหรียญแล้ว (อ้างอิงจาก Coinmarketcap)
มันแทบเป็นไม่ได้แล้วที่เราจะหวังว่าจะซื้อเหรียญอะไรก็ได้ แล้วรอให้มูลค่ามันขึ้นไปอย่างก้าวกระโดด การเลือกซื้อเหรียญในสภาวะตลาดในปัจจุบัน หากเลือกผิด เลือกตามกระแส เลือกเหรียญที่ Pump&Dump อาจหมายถึงการสูญเงินลงทุนไปถึง 80% – 90% ได้
เราเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วเวลาที่ตลาดมีความไม่แน่นอนในช่วงก่อน Bitcoin Hard Fork 
ขณะที่เหรียญพื้นฐานดีๆ ที่เราอาจขาดทุนหรือกำไรลดตอนนั้น เราก็ยังมั่นใจได้ว่าในอนาคต มันจะเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าเงินได้ไหลกลับเหรียญพวกนั้น
กลับกัน เหรียญที่ไร้พื้นฐาน ถ้าเราดอยไปแล้ว อาจไม่มีวันกลับไปที่เดิมได้อีกเลย
แต่หากเราเลือกถูกต้อง มูลค่าของเหรียญนั้นมีโอกาสที่จะโตเป็นสิบเท่าหรือมากกว่าเลยทีเดียว
แล้วเราจะเลือกลงทุนเหรียญไหนดีหละ?
ในบทความนี้เรามาดูกฎหลัก 8ข้อที่ใช้กันนะครับ
ความหมายของ Crypto VI
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว VI หรือชื่อเต็มว่า Value Investor นั้นเป็นคำที่นักลงทุนหุ้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นักลงทุนสาย VI จะเลือกหาหุ้นที่ดี พื้นฐานแกร่ง และยังมีมูลค่าต่ำกว่าที่มันควรจะเป็น หรือ Undervalued นั้นเอง นิยามของคำว่า VI แท้จริงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่หุ้นแต่สามารถเอาไปปรับใช้กับการลงทุนอื่นๆได้ด้วย
หลักการลงทุน Crypto นั้น ในความจริงแล้วไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นมากนัก
แม้ว่าเราไม่สามารถตีมูลค่าบริษัทจาก Book value ได้แบบหุ้น แต่เราสามารถวิเคราะห์ในแง่ศักยภาพของโปรเจค/ธุรกิจได้ไม่ต่างกัน
อย่าลืมว่า เราไม่ได้ลงทุนกับเหรียญที่ไม่มีตัวตน เรากำลังลงทุนกับเทคโนโลยี Blockchain ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้
เลือกเหรียญพื้นฐานดี ที่มูลค่ายังต่ำ แล้วถือยาว
เหรียญที่ดีนั้นดูได้จากอะไรบ้าง
1. ไอเดีย
คิดง่ายๆว่าเราเป็นเหมือนนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนใน Startup เราคงไม่ไปลงทุนกับโปรเจคเหรียญที่ไอเดียดูไร้อนาคตใช่ไหมละครับ
กลับกันถ้าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ ที่จะสามารถพลิกโฉมตลาดได้และเติบโตแบบติดจรวด เราคงทุ่มไม่อั้นเพื่อให้ได้ลงทุนกับไอเดียนั้นใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น ขั้นแรกเลยคือเราต้องดูว่า
ไอเดียน่าสนใจหรือไม่ และเข้ามาแก้ปัญหาอะไร
ลองตั้งคำถามดูครับ ว่าโปรเจคมีความแปลกใหม่อะไร? ทำไมถึงต้องใช้ Blockchain?
มีโปรเจคมากมายที่ไม่ได้แก้ปัญหาจริงๆ  บางโปรเจคอาศัยคำว่า Blockchain แค่จะดึงดูดนักลงทุน ในความเป็นจริงแล้ว Blockchain อาจจะไม่เหมาะสมในการใช้งานแบบนี้ก็เป็นได้
มีความเป็นไปได้ขนาดไหน
บางทีไอเดียอาจจะดูดี และเข้ามาแก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่เราต้องคิดด้วยว่ามันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน
Business Model ดูเวิร์คไหม?
Technology ที่พูดไว้มีความเป็นไปได้จริงรึเปล่า?
มันจะติดขัดเรื่องกฎหมายอะไรไหม?
มันสามารถเกิดขึ้นได้จริงในระยะเวลาที่เรามองไว้รึเปล่า?
หรือให้ง่ายที่สุด เราคิดว่าตัวเราเองหรือคนอื่นจะใช้มันไหม ถ้ามันทำออกมาสำเร็จ?
เลือกซื้อเหรียญที่เราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ครับ
2. ประเภทของโปรเจค
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น เหรียญในตลาดตอนนี้มีเยอะมากแล้ว ทุกๆเหรียญที่สร้างออกมามีคุณลักษณะและเป้าหมายในการสร้างต่างกัน เราควรต้องรู้ว่าเหรียญที่เราสนใจนั้น
เป็นสกุลเงิน?
เป็น platform ให้คนสร้างแอป?
เป็น marketplace ให้คนแลกเปลี่ยนของ?
เป็นแอปแก้ปัญหาเฉพาะทาง?
เราควรรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะเราจะได้ดูว่าคู่แข่งเป็นใคร ทั้งในโปรเจคที่ใช้ Blockchain หรือแม้กระทั่งบริษัทที่แก้ปัญหาเดียวกันที่มีตัวตนอยู่แล้วในตลาด
เช่น Sia (SC) โปรเจค Decentralized storage ที่เข้ามาแข่งกับ Cloud storage เจ้าอื่นเช่น Dropbox, Amazon S3, Google
จากตัวอย่างนี้ เราสามารถวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และความเป็นไปได้ที่คนจะหันมาใช้ SC
คู่แข่งล้นตลาดแล้วรึยัง
เราสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่าเหรียญนี้จะมีสิทธิจะเป็นผู้นำตลาดไหม?
ตัวอย่างเช่น เหรียญประเภทสกุลเงิน ที่เราเห็นกันแล้วว่ามันมีเยอะมากเหลือเกิน อีก 3ปีข้างหน้า จะมีเหรียญที่คนใช้เป็นสกุลเงินจริงๆซักกี่เหรียญกัน เหรียญไหนน่าจะอยู่รอด เป็นต้น
3. ขนาดตลาด
แต่ละโปรเจคนั้นแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องมาดูว่าขนาดตลาดที่โปรเจคนี้เข้าไปนั้นใหญ่ขนาดไหน
ตลาดเป้าหมาย
ทุกโปรเจคอาจจะบอกว่าขนาดตลาดคือทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงในด้านธุรกิจแล้ว เราต้องมาดูความสามารถในการเจาะตลาดแรกๆของโปรเจคนั้นด้วย
โปรเจคที่ดีนั้นจะมีการวางตัวในตลาดอย่างชัดเจน เราจะมองเห็นได้ว่ามันจะเริ่มที่ไหน จะขยายไปที่ไหนได้
ตัวอย่างเช่น Omise Go (OMG) ที่เริ่มจากตลาดไทย และเป้าหมายคือแถบ ASEAN ถึง ASIA ทั้งหมด
อีกตัวอย่างนึงก็คือ NEO/Antshares (ANS) ที่มีรากฐานจากจีน ซึ่งทำให้การจับตลาดจีนเป็นเรื่องง่ายกว่าคนอื่น
4. Market cap มูลค่าและการเติบโต
เติบโตได้อีกกี่เท่าตัว?
เราสามารถเข้าไปดู market cap ของแต่ละเหรียญได้ง่ายๆ ใน Coinmarketcap
Market cap จะทำให้เราเห็นว่าการลงทุนของเรานั้นมีสิทธิที่จะเติบโตขนาดไหน ซึ่งสำหรับสาย VI แล้ว การได้กำไร 40% หรือแม้แต่ 100% นั้นถือว่าเล็กน้อย
ตัวอย่างเช่น เราเลือกเหรียญมูลค่าสูงอยู่แล้ว ประมาณ $1พันล้าน แล้วเราคิดว่าภายเวลา 1ปี มันไม่น่าโตได้เกิน $1.5-$2bn เราก็คงเลือกที่จะไม่ลง เพราะ growth มันน้อย
กลับกัน ถ้าเราเลือกเหรียญที่ยังมีมูลค่าต่ำ แล้วมีพื้นที่ๆจะโตได้ การลงทุนของเราอาจจะให้ผลตอบแทน 500%-1000% ก็เป็นได้ในระยะเวลาเดียวกัน เช่นเหรียญมูลค่า $50m แล้วเป็นธุรกิจที่น่าจะไปได้ถึง $500m เป็นต้น
เปรียบเทียบมูลค่ากับคู่แข่ง
เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเหรียญโปรเจคที่เราดูอยู่ เมื่อเทียบกับโปรเจคอื่นในตลาด มันมีค่าต่างกันขนาดไหน
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหรียญในตลาดที่มูลค่ามากกว่า $1bn แล้วเราเจออีกเหรียญที่โปรเจคอาจจะพึ่งเริ่ม คนยังไม่ค่อยรู้จัก และที่สำคัญมูลค่าไม่ถึง $50m เราเทียบกับแล้วว่าวันนึงมันน่าจะแข่งกันได้ หรือมูลค่าอาจจะไปได้ซักครึ่งของโปรเจค $1bn อันนั้น ก็แปลว่าเรามี Upside มากเกิน 10เท่าตัวเลยครับ

5. ทีมงาน และพาร์ทเนอร์
เราอาจจะเจอโปรเจคที่เราคิดว่า นี่แหละใช่เลย ดูดีทุกอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างนึงคือทีมงานนะครับ เพราะโปรเจคจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มนี้
ในเวปส่วนใหญ่จะโชว์ว่าคนเหล่านี้คือใคร ซึ่งเราสามารถเชคได้หลายอย่าง เช่น
·         ตรวจสอบประวัติ ว่ามีตัวตนจริงๆ (LinkedIn profile) หรือไม่มีประวัติเสีย
·         ทีมงานทำงาน full-time หรือ part-time
·         ทีมงานดูมีความพร้อมและความสามารถขนาดไหน
ในขณะเดียวกัน บางโปรเจคนั้นจะจงใจไม่เปิดเผยทีมงาน ซึ่งอาจจะทำให้เชคยากหน่อย
ที่ปรึกษา / พาร์ทเนอร์
เราควรดูด้วยว่าโปรเจคนี้มีที่ปรึกษาเป็นใคร มีบริษัทไหนสนับสนุนรึเปล่า หากมีบริษัทยักษ์ใหญ่มาร่วมด้วย ก็มีความเป็นไปได้ว่าโปรเจ็คนั้นจะไปได้ดีในอนาคตเพราะมี support และ connection ที่ดี
ขณะเดียวกัน ถ้าโปรเจ็คมีนายทุน Angel Investor / Venture Capitalist ชื่อดังลงทุนอยู่ด้วย มันก็จะสร้างความน่าเชื่อถืออีกระดับ เพราะมันได้ผ่านการวิเคราะห์ของนักลงทุนระดับเซียนมาแล้ว


6. แผนงานในอนาคต
โปรเจคส่วนใหญ่นั้นจะมี Roadmap อยู่บนเวป บนบล็อก หรือบน whitepaper ซึ่งตัว Roadmap นั้นจะช่วยให้เราพอเข้าใจถึงสิ่งที่ทางทีมงานวางแผนไว้ล่วงหน้า ถึงแม้อาจจะไม่ได้ตามนั้น อย่างน้อยมันก็ยังดีกว่าโปรเจคที่ไม่มีแผนงานเป็นชิ้นเป็นอัน เราควรพยายามที่จะลงทุนในโปรเจคที่ซีเรียสกับ Roadmap ไม่ต่างกับธุรกิจจริงๆ
อย่างไรก็ตามถึงแม้ Roadmap อาจจะสวยหรู ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้อย่างที่พูด เราก็ต้องควรระวังและคอยจับตาดูในเรื่องนี้ด้วย
7. ผลประโยชน์ของผู้ถือเหรียญ
เหรียญที่เราถือ มันมีไว้ทำอะไร?
เมื่อเราลงทุนกับอะไรเราย่อมต้องการผลตอบแทน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าผู้ถือหรียญจะได้รับผลประโยชน์อะไร
บางเหรียญจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือ จากรายได้ = ยิ่งรายได้เยอะ มูลค่าเหรียญควรเพิ่ม
บางเหรียญเป็นเชื้อเพลิง ไว้จ่ายแลกกับการใช้ platform นั้น = platform ยิ่งใหญ่ เหรียญยิ่งมีมูลค่า
บางเหรียญอาจจะเป็นแค่ store of value = คนให้ความเชื่อมั่นกับสกุลเงินนี้ เหรียญก็ยิ่งมีมูลค่า
หากเราไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหรียญมันจะมีมูลค่ามายังไง เราไม่ควรไปร่วมลงทุนด้วยแม้ว่ามันจะดูดีขนาดไหน เพราะมันอาจจะเป็นโปรเจคที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือเหรียญ 
โปรเจคที่ดีนั้นควระอธิบายถึงประโยชน์ของการถือเหรียญนั้น ไม่ว่าจะใน Whitepaper หรือบนเวป
8. ความคืบหน้า และผลงาน
โปรเจคนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
บางโปรเจคนั้นเริ่มทำมาแล้วเป็นปี บางอันพึ่งเริ่ม แต่สำหรับผมแล้ว ระยะเวลากลับไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผลงานที่เค้ามีให้ดูแล้วสำคัญมากกว่า เช่นมีมีโปรดัคให้ลองใช้ไหม? มี Prototype ไหม? หรือแม้แต่ Mockup ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย
สอบถามหรือติดตามอัพเดทจากทีมงานได้ที่ Slack, Telegram, Blog, Bitcointalk, Reddit
โปรเจคที่ดีควรมีช่องทางในการสื่อสารกับนักลงทุนหรือ User
จะยิ่งดีเลยถ้าเราสามารถเข้าร่วมดูการทำงานของทีมงานได้บน Slack
การอัพเดท Blog ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งควรจะมีการอัพเดทเป็นประจำ อาจจะทุกเดือน เพื่อโชว์ความคืบหน้าของโปรเจค
ตรวจสอบความคืบหน้าได้จาก Github
โปรเจคที่ open source ส่วนใหญ่จะมี Github ให้เราดู ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็คได้ว่ามีการอัพเดทโค้ดอะไรบ้าง อัพเดทบ่อยขนาดไหน พูดง่ายๆคือ มันแสดงให้เห็นว่านักพัฒนายัง active กับโปรเจคนี้อยู่
ปิดท้าย
ขอย้ำอีกทีนะครับว่า การเลือกหุ้นสไตล์ VI แบบนี้เหมาะสำหรับคนที่สามารถจะถือยาวได้ (เงินเย็น) และเลือกที่จะทำกำไรเป็นชิ้นเป็นอันทีเดียวนะครับ ซึ่งเทคนิคนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับการเลือกเหรียญเก็งกำไรระยะสั้น
ส่วนตัวคิดว่าตลาด Crypto นี้พึ่งเริ่มต้น เป็นตลาดกระทิง ดังนั้นเราไม่มีความจำเป็นต้องขายเพื่อกินกำไรเล็กน้อย ในเมื่อเราสามารถทำกำไรได้หลายเท่าตัวในทีเดียวในระยะเวลาไม่กี่ปีนี้
ถ้าเราคิดว่าโปรเจ็คนี้อนาคตไกล มูลค่าจะโตอีกมาก เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะขายใช่ไหมละครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆกลั่นกรองเหรียญได้เบื้องต้นนะครับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เลือก ICO ยังไงให้ได้ผลตอบแทนที่ดี

วิเคาระห์ อัตราการเจริญเติบโต ของเหรียญ iUVO Coin จาก Allocation Chart

ขั้นตอนการสั่งซื้อ Register Wallet และ ICOM Wallet